สารกันเสีย หรือวัตถุกันเสีย (Preservative) มีความสำคัญต่อสูตรในเครื่องสำอางเป็นอย่างมาก มีบทบาทเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ อันก่อให้เกิดเชื้อรา และแบคทีเรียได้ในอนาคต เครื่องสำอางในตลาดที่มีคำโฆษณาว่าไม่ใส่สารกันเสีย เพื่อหวังให้ผู้บริโภคกลัวสารกันเสียและหลีกเลี่ยง (Preservative-Free, No Preservative) นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคยิ่งควรตระหนักถึงความเสี่ยงจากการไม่ใส่เครื่องสำอางเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลเสียที่ไม่ใส่สารกันเสีย อาจมีมากกว่าผลเสียอันเกิดจากความเสี่ยงต่อการแพ้หรือระคายเคืองต่อสารกันเสีย ทั้งด้านที่อาจก่อให้เกิดเชื้อจุลินทรีย์ หรือทำให้สารในเครื่องสำอางมีประสิทธิภาพลดลงParaben นับเป็นหนึ่งในสารกันเสียที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีราคาที่เข้าถึงง่าย และมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันพบว่าพาราเบนมีทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ Methylparaben, Ethylparaben, Propylparaben, Butylparaben, Isopropylparaben และ Isobutylparaben (Oishi, 2001; Darbre et al., 2002, 2003) ทว่า ปัจจุบันบางแบรนด์มีการเคลมถึง No Paraben หรือ Paraben Free โดยให้เหตุผลว่าพาราเบนนั้น เข้าไปรบกวนฮอร์โมนในเพศหญิงและฮอร์โมนเพศชาย (Darbre et al., 2004) พบการศึกษาโดยทดสอบความแตกต่างของสารกันเสียต่อเซลล์ที่สร้างคอลลาเจนและอิลาสตินบนชั้นผิวของมนุษย์ โดยทดสอบจากสารกันเสียกลุ่ม Paraben และ Phenoxyethanol ผลพบว่า Propyl paraben มีผลทำลายเซลล์เซลล์ที่รุนแรงกว่าสารกันเสียที่ทดสอบทั้งหมด (Katarzyna et al., 2020) โดยในปี 2005 สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้กลุ่ม Paraben ทั้ง 6 ตัว แต่ควบคุมในปริมาณที่กำหนด ในปริมาณที่ 0.01 ถึง 0.3% เมื่อพิจราณาความปลอดภัยในสตรีและทารก, ปี 2011 รัฐบาลเดนมาร์ก The Danish Government ได้เริ่มสั่งห้ามใช้กลุ่ม Paraben บางชนิด ได้แก่ Propyl paraben , Butylparaben, Isopropylparaben และ Isobutylparaben ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 3 ปี, ญี่ปุ่นอนุญาตให้ใช้กลุ่ Paraben ได้ที่ปริมาณ 0.1 ถึง 0.4%, เกาหลีอนุญาตให้ใช้กลุ่ม Paraben ในอาหารและยารักษาโรคเท่านั้น, ปี 2018 ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ Methylparaben, Ethylparaben, Propylparaben, Butylparaben ที่ 0.8% โดยห้ามใช้ในผลิตภภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ไม่ต้องล้างออก สําหรับการใช้ในบริเวณที่สัมผัสผ้าอ้อมสําหรับเด็กอายุต่ํากว่า 3 ปี
เมื่อมีกระแสการสั่งห้าม หรือการกำหนดปริมาณการใช้พาราเบนเกิดขึ้น นักการตลาดเครื่องสำอางจึงหันมาเล่นกับความกลัวนี้ โดยโปรโมทผลิตภัณฑ์ต่างๆเป็น Clean Beauty หรือการเคลมไม่ใส่สารต้องห้ามต่างๆที่มีชื่อเสียงหรือข่าวออกมา ทั้งนี้ผู้ผลิตจึงหันไปใช้สารทดแทนที่อาจจะดี หรือแย่กว่าพาราเบนเสียอีก แต่ยังไม่ถูกนักการตลาดหยิบยกมาสื่อสารกับผู้บริโภค เช่น Methylisothiazolinone หรือ MI เป็นสารกันเสียที่พบได้มากในแชมพู ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนัง และเครื่องสำอาง มีการทดสอบปฏิกิริยาการแพ้ในหนูพบว่า MI มีค่าปฏิกิริยาความไวต่อการแพ้สูง ยิ่งมีค่าสูง ยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่รุนแรงยิ่งขึ้น (Erica et al., 2019) ในประเทศไทยสั่งห้ามใช้สารชนิดนี้ ในเครื่องสำอางที่ทาทิ้งไว้ เนื่องจากสารอาจกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบได้ และ Methylchloroisothiazolinone หรือ MCI เป็นสารกันเสียพบได้ในตั้งแต่เครื่องสำอางไปจนถึงสีในเครื่องสำอาง เช่นเดียวกันกับ Methylisothiazolinone ในประเทศไทยสั่งห้ามใช้ในเครื่องสำอางที่ทิ้งไว้ โดยมีการทดสอบ Patch Test หรือการทดสอบผื่นแพ้สัมผัสทางผิวหนัง ในผู้ทดสอบจำนวน 297 คน พบผื่น และรอยแดง ประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยคิดเป็น 17.24% มากที่สุดจากสารที่ทดสอบทั้งหมด (Eliane et al., 2020)
จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นนั้น Paraben อาจไม่ก่อให้เกิดการแพ้เมื่อใช้ในปริมาณต่ำ หรือปริมาณที่ควบคุม ทั้งนี้ ในปริมาณดังกล่าวที่กฎหมายแต่ละประเทศกำหนด ก็ยังคงทำให้พาราเบนสามารถเป็นสารกันเสียที่มีประสิทธิภาพได้อยู่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อผู้บริโภคได้รับการสื่อสารจากแบรนด์เครื่องสำอางในตลาดอย่างกว้างขวางว่าไม่ควรใช้พาราเบน จึงไม่แปลกที่ผู้บริโภคยังมีความกังวลในการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันเสียชนิดนี้อยู่ ทั้งนี้สารกันเสียทางเลือกต่างๆ ยังมีอีกมากมายให้ได้ศึกษา และอาจจะดีกว่าหรือแย่กว่าตัวพาราเบนก็ได้ หรืออาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอันเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล
แหล่งอ้างอิง
S Oishi. Effects of butylparaben on the male reproductive system in rats. Toxicol. Ind. Health. 2001; 17(1):31-9.
P. D. Darbre, A. Aljarrah, W. R. Miller, N. G. Coldham, M. J. Sauer and G. S. Pope. Concentrations of parabens in human breast tumours. J. Appl. Toxicol. 2004; 24: 5–13.
E. A. Gomez, J. Kline, E. Emanuel, N. Neamonitaki and T. Yangdon. Repeated vaginal exposures to the common cosmetic and household household preservative methylisothiazolinone induce persistent, Mast Cell-Dependent Genital Pain in ND4 Mice. 2019.